หมวดหมู่: บริหาร-จัดการ

PwC Chanchai


PwC เตือนปี 63 หุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุนถูกจัดประเภทใหม่เป็นหนี้สินสะเทือนสถานะทางการเงินบจ. แน่

          PwC ประเทศไทย ห่วงมาตรฐาน TAS 32 ฉบับใหม่ปรับหลักเกณฑ์การจัดประเภทตราสาร อาจทำให้หุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุนเปลี่ยนจากทุนเป็นหนี้สินในการบันทึกงบการเงิน ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้ D/E สูงเกินข้อกำหนดในสัญญาเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ จนทำให้แบงก์มีสิทธิเรียกคืนเงินกู้ก่อนกำหนด เผยปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนไทย 8 แห่งเป็นผู้ออกหุ้นกู้ประเภทดังกล่าว มูลค่าคงค้างเกือบ 8 หมื่นล้านบาท (มูลค่า ณ 30 กันยายน 2562) ชี้หากไม่มีแนวทางผ่อนผันยกเว้นการจัดประเภทใหม่ชั่วคราว อาจส่งผลกระทบกับตลาดรวมและราคาหุ้นในระยะสั้น

          นายชาญชัย ชัยประสิทธิ์ หัวหน้าสายงานตรวจสอบบัญชี และหุ้นส่วนบริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนาประจำปี PwC Thailand’s Symposium 2019 ภายใต้หัวข้อ “บริหารความท้าทายขององค์กรในทศวรรษใหม่อย่างมืออาชีพ” (Connecting the dots: Managing corporate challenges in 2020 and beyond) ว่า ในปี 2563 ธุรกิจจะต้องเผชิญกับความท้าทายหลากหลายด้านไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล การก้าวตามเทคโนโลยีเกิดใหม่ให้ทัน รวมไปถึงกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรฐานการบัญชีและหลักการทางบัญชีใหม่หลายฉบับที่จะมีผลบังคับใช้ในปีหน้าไม่ว่าจะเป็น TFRS 9, TAS 32 และ TFRIC 23 เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดอาจส่งผลกระทบต่อรายงานทางการเงินของบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 32 ที่ระบุเรื่องการจัดประเภทตราสารหนี้สินและทุนให้มีเงื่อนไขที่ละเอียดและชัดเจนขึ้น ซึ่งคาดว่า จะส่งผลให้หุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุน (Perpetual Bond) ถูกจัดประเภทใหม่จากตราสารทุนเป็นหนี้สินในงบการเงินแทน ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราส่วนทางการเงิน โดยเฉพาะอัตราหนี้สินต่อทุน (Debt-to-equity ratio: D/E ratio) เพิ่มขึ้น จนทำให้เกิดความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง และในที่สุดทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงตามไปด้วย

          โดยปกติแล้ว ลักษณะที่สำคัญของ Perpetual Bond มี 2 ประการ คือ 1) ไม่มีกำหนดการชำระคืนเงินต้นที่แน่นอน กล่าวคือ ผู้ถือไม่มีสิทธิไถ่ถอน สิทธิการไถ่ถอนอยู่ที่ผู้ออกหุ้นกู้ และ 2) มีกำหนดจ่ายดอกเบี้ยที่ชัดเจน แต่ผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิในการเลื่อนชำระดอกเบี้ยออกไปได้ ทั้งนี้ TAS 32 ฉบับใหม่ได้ให้คำอธิบายการพิจารณาจัดประเภทตราสารว่า จะเป็นหนี้ หรือทุนชัดเจนขึ้น โดยระบุว่า ถ้าการชำระเงินต้น หรือดอกเบี้ย ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ในอนาคตที่กิจการไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ต้องไถ่ถอนหุ้นกู้ทันที เมื่อมีผลขาดทุนสะสมจนทำให้ส่วนของทุนเหลือน้อยกว่า 50% ของทุนจดทะเบียน กรณีเช่นนี้ จะต้องแสดง Perpetual Bond เป็นหนี้สิน เว้นแต่มีการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย เพราะกิจการได้ชำระบัญชีเพื่อเลิกกิจการ (Liquidation) ไม่ว่าโดยสมัครใจ หรือโดยผลของกฎหมายล้มละลาย (กรณีศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย) ตราสารนั้นจะถูกจัดประเภทเป็นทุน แต่ปัจจุบันหุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุนของบริษัทจดทะเบียนไทย 8 แห่งที่อยู่ในตลาดนั้น มีการระบุเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติม ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่กิจการไม่อาจควบคุมได้ คือ บริษัทจะชำระคืนเงินต้นหรือดอกเบี้ยในกรณีที่ 1) บริษัทผู้ออกเลิกกิจการ 2) ล้มละลาย 3) เข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ และ 4) ถูกพิทักษ์ทรัพย์ถาวร ซึ่งจะเห็นว่า หากบริษัทเกิดกรณีตามเงื่อนไขข้อที่ 3 และ 4 อาจทำให้ไม่สามารถเลื่อนการชำระคืนเงินต้นหรืออัตราดอกเบี้ยออกไปได้ นั่นจึงทำให้หุ้นกู้ดังกล่าว ควรจะต้องถูกจัดประเภทเป็นหนี้สินแทน

          ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนไทยขนาดใหญ่ 8 แห่งที่ออกหุ้นกู้ประเภทดังกล่าว มีมูลค่าคงค้างประมาณ 7.7 หมื่นล้านบาท (ณ 30 กันยายน 2562) ซึ่งบริษัทที่ออกหุ้นกู้ที่ไถ่ถอนเมื่อเลิกกิจการส่วนใหญ่ จะต้องการใช้เงินลงทุนสูง แต่ไม่ต้องการเพิ่มทุน หรือกู้ยืมเงิน เพราะเกรงจะกระทบกับสัดส่วนหนี้สินต่อทุน และส่งผลให้ความเสี่ยงด้านเครดิตสูงตามไปด้วย จึงหันมาออกหุ้นกู้ที่ประเภทนี้ เนื่องจากไม่กระทบอัตราหนี้สินต่อทุน และยังช่วยเพิ่มสภาพคล่องในการบริหารจัดการโครงสร้างหนี้อีกด้วย

          สำหรับแนวทางการรับมือกับ TAS 32 นั้น บริษัทผู้ออกสามารถทำได้ 2 แนวทาง คือ แก้ไขสัญญาหุ้นกู้ หรือไถ่ถอนแล้วออกหุ้นกู้รุ่นใหม่ทดแทน แต่ทั้ง 2 แนวทางมีสิ่งที่บริษัทต้องพึงพิจารณาทั้งภาระค่าใช้จ่ายที่สูงและระยะเวลาในการดำเนินการขั้นต่ำ 2-3 เดือน ซึ่งคาดว่า บริษัทไม่น่าจะสามารถดำเนินการเสร็จได้ทันภายใน 1 มกราคม 2563

          มาตรฐาน TAS 32 ที่เปลี่ยนแปลงไปอาจเป็นเรื่องยุ่งยากสำหรับบริษัทจดทะเบียนที่ยังมีหุ้นกู้เหล่านี้คงค้างอยู่ โดยปัจจุบันสภาวิชาชีพบัญชีอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางยกเว้น หรือผ่อนผันให้กับหุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุนที่ออกและมียอดคงค้างอยู่ไม่ต้องมีการจัดประเภทใหม่ในช่วงระยะเวลาหนึ่งหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่บริษัทและนักลงทุนต้องติดตามว่า โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสูงขึ้นมากและอาจส่งผลให้เจ้าหนี้เงินให้กู้ยืมของบริษัท เช่น ธนาคารพาณิชย์ มีสิทธิเรียกร้องให้ชำระเงินกู้ซึ่งเดิมยังไม่ถึงกำหนดชำระได้ในทันที เนื่องจากผิดข้อกำหนดในสัญญาเงินกู้เรื่องการคงอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ และท้ายที่สุดก็อาจส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นของบริษัทในระยะสั้นได้” นายชาญชัยกล่าว

          นอกจากนี้ กฎทางบัญชีใหม่ (TFRIC 23) เรื่องความไม่แน่นอนเกี่ยวกับวิธีการทางภาษีเงินได้ ซึ่งมีหลักการในสาระสำคัญเช่นเดียวกับ Fin 48 ที่ใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่กำหนดให้กิจการต้องรับรู้ประมาณการค่าใช้จ่ายหรือหนี้สินในประเด็นภาษีที่มีความคลุมเครือและไม่ชัดเจนในงบการเงิน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อตัวเลขในงบการเงิน เพราะปัจจุบันบริษัทประมาณการค่าใช้จ่ายทางภาษีหรือหนี้สินภาษีเงินได้ เฉพาะรายการที่คิดว่า บริษัทมีภาระจะต้องจ่ายอย่างแน่นอน แต่รายการที่คลุมเครือหรือรายการที่อาจจะเสียภาษีผิดพลาด จะไม่ถูกนำมาตั้งในงบการเงิน และรอจนกว่ากรมสรรพากรจะเข้ามาชี้ประเด็น จึงจะต่อสู้และแก้ต่าง โดยปกติ บริษัทบันทึกบัญชีเมื่อการต่อสู้ถึงที่สิ้นสุด

          “ธุรกิจจะต้องพิจารณาประเด็นภาษีที่มีความคลุมเครือว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนว่าจะมีภาระหนี้สิน โดยอาจพิจารณาจากข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และความน่าจะเป็นว่า ประเด็นดังกล่าวต้องเสียภาษีหรือไม่ และเสียในอัตราอะไร ซึ่งถ้าบริษัทสามารถประมาณการว่า มีภาระภาษีค่อนข้างแน่นอนและมีประมาณการตัวเลขที่สมเหตุสมผล เชื่อถือได้ ก็ควรบันทึกรายการเหล่านี้เป็นค่าใช้จ่ายทางภาษี หรือหนี้สินภาษีเงินได้ในปีที่เกิดรายการเลย แม้ว่าทางกรมสรรพากรยังไม่ทราบถึงเรื่องที่คลุมเครือก็ตาม เพราะใน TFRIC 23 มีข้อสมมติฐานว่า เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบภาษีมีความรู้เกี่ยวกับข้อมูลทั้งหมดอย่างครบถ้วนของเรื่องที่ยังมีความไม่แน่นอนทางภาษี” นายชาญชัยกล่าว

          อย่างไรก็ดี ปัจจุบันรายการทางธุรกิจนั้นมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น อีกทั้งกฎหมายภาษีและมาตรฐานการรายงานทางการเงินไทยมีหลักการที่แตกต่างกันมาก ประกอบกับความคลุมเครือในการตีความและไม่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในการเสียภาษีของธุรกรรมทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ๆ ที่มีความซับซ้อน ดังนั้น กิจการจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในกฎหมายภาษีและการตีความที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี เพื่อที่จะสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงและกำหนดจุดยืนในการยื่นแบบเพื่อเสียภาษีให้ถูกต้องและเหมาะสม

 

“ดิจิทัล” เทรนด์ความท้าทายที่ธุรกิจต้องติดตาม
          อย่างไรก็ดี แม้การเปลี่ยนแปลงมาตรฐานทางบัญชีจะเป็นความท้าทายและธุรกิจต้องติดตามอยู่ตลอดเวลา แต่การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีก็เป็นสิ่งที่ธุรกิจควรต้องติดตามไม่แพ้กัน ซึ่งเทคโนโลยีที่ต้องจับตาในทศวรรษหน้านั้นคือ เทคโนโลยี 5G และเทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้ง (Cloud computing) โดยเฉพาะการเข้ามาของเทคโนโลยี 5G จะทำให้การใช้เทคโนโลยีอื่นๆ นั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะอินเทอร์เน็ตจะมีความเร็วสูงมาก และทำลายข้อจำกัดในการนำเทคโนโลยีอื่นๆ มาใช้ และก่อให้เกิดบริการใหม่ๆ เช่น Smart city และ eHealth ขณะที่เทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้ง ซึ่งคล้ายกับระบบคอมพิวเตอร์ที่มีทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟแวร์ แต่สามารถรองรับการใช้งาน การประมวลผล และเก็บข้อมูลได้จำนวนมหาศาล ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจทำงานได้อย่างไร้ขีดจำกัด สามารถปฏิบัติงาน และติดตามควบคุมแบบเรียลไทม์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

          “สิ่งที่ผู้นำองค์กรต้องเร่งลงมือทำตั้งแต่วันนี้คือ ทำความเข้าใจเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นและกำลังจะเข้ามา โดยไม่ลืมที่จะประเมินว่า บริษัทของตนนั้นต้องการนำเทคโนโลยีอะไรมาใช้ด้านไหนบ้าง เพราะทุกเทคโนโลยีอาจไม่ได้เหมาะกับธุรกิจเราทั้งหมด หลังจากนั้น ต้องพิจารณาแผนการลงทุนที่เหมาะสม รวมไปถึงยกระดับทักษะของบุคลากรให้พร้อมรับมือกับการเข้ามาของดิจิทัล ยิ่งไปกว่านั้น ต้องไม่ลืมที่จะลงทุนด้านการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล เนื่องจากภัยไซเบอร์เป็นสิ่งที่จะเข้ามาพร้อมกับเทคโนโลยีอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และภูมิภาคอาเซียนเองก็มีความเสี่ยงที่จะถูกโจมตีจากอาชญากรทางคอมพิวเตอร์มากขึ้นตามการขยายตัวของการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต” นายชาญชัยกล่าว

          นอกจากนี้ การระดมทุนด้วยการออกเหรียญดิจิทัล (Initial Coin Offering: ICO) ที่กำลังแพร่หลายในปัจจุบัน ยังเป็นอีกประเด็นที่ธุรกิจต้องติดตามว่า จะมีการพัฒนามาตรฐานการรายงานทางการเงินให้ทันต่อสินทรัพย์ประเภทนี้ รวมไปถึงสินทรัพย์ใหม่ๆ ในยุคดิจิทัลออกมาอย่างไร สำหรับไอซีโอนั้น แม้ยังไม่มีมาตรฐานการบัญชีที่เฉพาะเจาะจง แต่หน่วยงานกำกับก็มีแนวทางในการกำกับดูแลในระดับหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่า อีกไม่ช้าก็เร็วจะมีรายละเอียดที่ชัดเจนในด้านต่างๆ ออกมามากยิ่งขึ้น โดยระหว่างนี้ หาก PwC ประเทศไทยต้องตรวจสอบหรือรับรองความถูกต้องของงบการเงินของบริษัทที่ออกหรือถือครองสกุลเงินดิจิทัล ก็จะต้องได้รับการอนุมัติจาก PwC Global ก่อน และในระหว่างตรวจสอบงบการเงิน ทีมงานต้องปรึกษาและรับคำแนะนำจากเครือข่ายในต่างประเทศที่เชี่ยวชาญด้านการดำเนินการ ดูแลควบคุมระบบ รวมถึงการบริหารจัดการความเสี่ยงเกี่ยวกับธุรกรรมในสกุลเงินดิจิทัล

 


AO10402

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

ais 790x90GC 950x120

sme 720x90banpu 720x90 new1 1

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!